top of page
Trees From Above

ปรากฏการณ์ "การคืนดีกับโลก"

        ราวกลางปี 2549 หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “An Inconvenient Truth” (แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ สำนักพิมพ์มติชน) ปลุกกระแสให้สังคมโลกหันมาสนใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการชี้ให้เห็นถึงสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งแปรเปลี่ยนด้วยน้ำมือมนุษย์เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงให้ใช้ชีวิตที่เหลือเร่งเรียนรู้ และรักษาโลกใบนี้เอาไว้...เพื่อลูกหลานของเรา

       ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นคนดังระดับโลก เขาคือ “อัล กอร์” นักการเมืองผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จุดเด่นของอัล กอร์ คือความใส่ใจของเขาต่อสภาพแวดล้อม การยอมรับว่ามนุษย์เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติ และสุดท้ายคือ ความเชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้

       ในหนังสือ “An Inconvenient Truth” อัล กอร์ ซึ่งเป็นนักการเมืองได้ต่อสู้อย่างทรหด ด้วยวิถีทางการเมือง เพื่อผลักดันให้ประชาคมโลกได้ร่วมกันร่างสนธิสัญญา อันมีเป้าหมายเพื่อควบคุมมลพิษที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งต่อมามีการออกนโยบาย และกฏหมายในหลายประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามพันธกิจในสนธิสัญญา แต่แล้วในที่สุดเมื่อการเมืองเปลี่ยนกฏเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดไว้เดิม ก็เปลี่ยนแปลงได้หมด อัล กอร์ บันทึกไว้ว่า  “...รัฐบาล(ใหม่) ตั้งใจจะสกัดกั้นนโยบายใดๆก็ตามที่มุ่งกำจัดมลพิษอันจะนำไปสู่สภาวะโลกร้อน พวกเขาทำทุกวิถีทางที่จะต้านทาน ลดความเข้มงวด และมองหาโอกาสยกเลิกกฏหมาย และข้อบังคับที่มีอยู่เดิม อันที่จริงพวกเขาล้มเลิกทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน”

       ดังนั้น เราจึงไม่อาจคาดหวังให้ระบบการเมืองเพียงกลไกเดียวเข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ด้านนิเวศวิทยา ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมาทบทวนแนวทางใหม่โดยหันมาใส่ใจประเด็นจริยธรรม ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อาจจะต้องก้าวข้ามการถกเถียงทางวิทยาศาสตร์ หรือการสัมนาทางการเมือง แต่หันมาใส่ใจว่าเราจะทำอะไรได้บ้างในฐานะมนุษย์ แม้จะเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดเพียงคนเดียวก็ตาม โดยการมองสิ่งต่างๆ ทั้งด้วยหัวใจ และปัญญา สิ่งนี้อาจเป็นความหวังใหม่ที่จะเอาชนะความท้าทายที่อยู่เบื้องหน้าในขณะนี้ ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายทางจริยธรรม ศีลธรรม และจิตวิญญาณ

       ต่อมาในปี 2558 สื่อมวลชนคาทอลิก ได้จัดพิมพ์หนังสือ “พระสมณสาส์น ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า (LAUDATO SI') ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เกี่ยวกับการดูแลรักษาโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน”  (ผู้แปล เซอร์มารีหลุยส์  พรฤกษ์งาม คณะภคินี เซนต์ปอล เดอ ซาร์ตร)

       สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ทรงเตือนว่า โลก : บ้านที่เราใช้ร่วมกันนี้ เป็นเสมือนพี่น้องคนหนึ่ง ซึ่งเราแบ่งปันชีวิตด้วยกัน พระองค์ทรงกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม บริโภคนิยม การพัฒนาที่ไร้ความรับผิดชอบ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวัฒนธรรมทิ้งขว้างพระสมณสาส์นฉบับนี้ปรารถนาให้มีการเสวนาร่วมกันกับทุกศาสนา และยังกล่าวถึงการเสวนากับสาขาวิชาการต่างๆ ด้วย นอกจากนี้พระสมณสาส์นฉบับนี้เรียกร้องให้มีขบวนการตัดสินใจในการดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้คำนึงถึงผลกระทบประเด็นหนึ่ง คือ “ความดีส่วนรวม” เนื่องจากการกระทำใดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็นการส่งผลกระทบต่อความดีส่วนรวมทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

       การคำนึงถึงความดีส่วนรวมนี้  เป็นคุณธรรมที่เราสามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยการเลิกที่จะยึดตนเองเป็นที่ตั้ง คือออกจากตนเองไปสู่ผู้อื่น เมื่อมีสิ่งนี้แล้วเราจะยอมรับคุณค่าของสิ่งสร้างอื่นๆ และสนใจที่จะมาปกป้องบางสิ่งเพื่อคนอื่น สิ่งนี้จึงเป็นรากฐานที่ทำให้เราสามารถเอาใจใส่ได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อม การปลูกฝังคุณธรรมที่เข้มแข็งนี้เท่านั้น จึงจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นการอุทิศตนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และเมื่อสังคมส่วนหนึ่งเริ่มยอมรับและมีการปฏิบัติต่อเนื่องจนเป็น “วัฒนธรรมรักษ์โลก” สังคมจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสร้าง นั่นคือปรากฏการณ์  “การคืนดีกับโลก”

Beautiful Nature

หัวข้อการประกวดคลิปวีดีโอประจำปี 2567

“Pathway to Net Zero: Our Common Home”

ท่านสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการ

Be Part of Something Great

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ Catholic.Association.TH@gmail.com

"อยู่กันอย่างไร ถ้าโลก "ร้อนขึ้น" กว่าเดิมหลายเท่า?

ขอขอบคุณวีดีโอคลิปจาก The Standard TH

bottom of page